ความสำคัญของเครื่องคั่วงา งาเป็นพืชที่มีขนาดเมล็ดเล็กมาก ในเมล็ดมีน้ำมันเป็นส่วนประกอบประมาณ 45-50 เปอร์เซ็นต์ นิยมนำมาคั่วก่อนนำไปรับประทานหรือแปรรูป เช่น งาตัด กระยาสารท เนยงา เป็นต้น เมื่อนำเมล็ดงาไปคั่ว มักพบปัญหาเมล็ดงาสุกไม่พร้อมกัน หรือเมล็ดงาไหม้ ทั้งนี้ขึ้นกับประสบการณ์ในการคั่ว โดยปรกติในการคั่วจะใช้ไฟอ่อน ๆ พลิกหรือคนงาตลอดเวลา หากใช้แรงงานคนในการคั่วจะพบปัญหาเรื่องความเหมื่อยล้า คั่วได้ครั้งละไม่มาก หากคั่วโดยใช้ไฟแรงมักพบปัญหาเมล็ดงาบางส่วนสุก บางส่วนไม่สุก และบางส่วนไหม้ ดังนั้นการสร้างเครื่องคั่วงานี้ก็เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวข้างต้นนี้ และยังลดเวลาในการคั่วในแต่ละครั้งลง อีกทั้งสามารถเพิ่มปริมาณการคั่วในแต่ละครั้งได้คราวละมากๆอีกด้วย
รู้จักกับเครื่องคั่วงา ในการออกแบบเครื่องคั่วงา ได้คำนึงถึงวิธีการที่จะสามารถให้ความร้อนแก่เมล็ดงาให้ได้ทั่วถึงทุกเมล็ดและสม่ำเสมอเพื่อไม่ให้เมล็ดงาไหม้ ดังนั้นจึงได้ใช้เตาแก๊สหุงต้มเป็นแหล่งให้พลังงานความร้อน โดยให้ความร้อนแก่หม้อคั่ว โดยหม้อคั่วจะประกอบด้วยหม้อ 2 ชั้น คือ หม้อคั่วชั้นในเป็นหม้ออลูมิเนียม และหม้อชั้นนอก เป็นหม้อเคลือบ เพื่อช่วยลดการแพร่กระจายความร้อนออกมา นั่นคือใช้หม้อหุงข้าวเป็นหม้อคั่ว เพราะหม้อหุงข้าวเป็นหม้อที่ให้ความร้อนได้อย่างสม่ำเสมอทั่วทั้งภาชนะ การคั่วงาอาศัยใบกวน 2 ชุด คือ ใบกวนชุดบนและใบกวนชุดล่าง ใบกวนชุดบนปรับสูงต่ำได้ทำหน้าที่เกลี่ยงาให้กระจายลงด้านล่างและด้านข้างของหม้อ ใบกวนชุดล่างปรับสูงต่ำได้เช่นกันเพื่อให้สามารถคั่วงาปริมาณมากหรือน้อยได้ ใบกวนชุดล่างนี้มีลักษณะ 4 แฉก ทำหน้าที่พลิกงาที่กำลังคั่วไม่ทำให้เมล็ดงาไหม้ ใบกวนชุดบนจะอยู่กับที่ ส่วนใบกวนชุดล่างจะเคลื่อนที่โดยอาศัยกำลังจากมอเตอร์ขนาด 1ส่วน 4 แรงม้า ดังแสดงในรูปที่ 1
การทำงานของเครื่องคั่วงา เมล็ดงาจะถูกใส่ลงในหม้อที่ได้รับความร้อนจากเตาแก๊สที่อยู่ด้านล่าง หม้อที่ใช้คั่วเมล็ดงาเป็นหม้อหุงข้าวที่มีขายทั่วไป ทั้งนี้เพราะหม้อหุงข้าวสามารถกระจายความร้อนได้ดี ทำให้เมล็ดงาได้รับความร้อนอย่างสม่ำเสมอทั่วทั้งหม้อ ในขณะให้ความร้อนอยู่นั้น ใบกวน 2 ชุด คือ ใบกวนชุดบนและใบกวนชุดล่าง จะทำงานโดยใบกวนชุดบนจะทำหน้าที่เกลี่ยงาให้กระจายลงด้านล่างและด้านข้างของหม้อ ใบกวนชุดล่าง มีลักษณะ 4 แฉก จะทำหน้าที่พลิกงาที่กำลังคั่ว ไม่ทำให้เมล็ดงาไหม้ ใบกวนทั้ง 2 นี้สามารถปรับสูงต่ำเพื่อให้คั่วงาปริมาณมากหรือน้อยต่างกันได้ ใบกวนชุดบนจะอยู่กับที่ ส่วนใบกวนชุดล่างจะเคลื่อนที่โดยอาศัยกำลังจากมอเตอร์ขนาด 1 ส่วน 4 แรงม้า ในการคั่วงา ใบกวนจะเริ่มทำงานตั้งแต่เริ่มให้ความร้อน อุณหภูมิของเมล็ดงาจะเพิ่มขึ้นจาก อุณหภูมิห้องไปจนถึง 110-120 องศาเซลเซียส ระยะเวลาที่ใช้ขึ้นอยู่กับปริมาณของเมล็ดงาที่คั่ว การสังเกตเมล็ดงาที่คั่วสุกแล้ว สังเกตได้จากลักษณะเมล็ด กลิ่นและสีของเมล็ดงา ถ้าเป็นงาขาวสีเมล็ดงาที่คั่วสุกแล้วเมล็ดจะเต็ง เปลี่ยนเป็นสีเหลือง กลิ่นหอม แต่ถ้าเป็นงาดำสังเกตได้จากเมล็ดเต็ง และมีกลิ่นหอม ข้อดีของเครื่องนี้ คือ สามารถทำให้เมล็ดงาสุกสม่ำเสมอและเมล็ดงาไม่ไหม้
การใช้งานของเครื่องคั่วงา โดยนำเมล็ดงาที่รอเตรียมคั่วมาล้าง เพื่อทำความสะอาดเมล็ด โดยนำเมล็ดลีบ และเศษดินหิน หรือเมล็ดวัชพืชออก ล้างเมล็ดงาด้วยน้ำสะอาด 3 5 ครั้ง แล้วจึงนำไปคั่ว ในการคั่วมีการให้ความร้อนโดยการเปิด-ปิดไฟจากเตาแก๊ส 3 ช่วง คือ ช่วงเปิดเตา ช่วงหรี่ไฟ และช่วงปิดเตา ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
ช่วงเปิดเตา ช่วงนี้เป็นช่วงที่เริ่มเปิดไฟ ซึ่งความร้อนจากเตาจะทำให้เมล็ดงาได้รับความร้อนสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นจากอุณหภูมิห้องไปถึงอุณหภูมิประมาณ 95-100 องศาเซลเซียส ระยะเวลาในการเปิดเตานี้จะขึ้นกับปริมาณของเมล็ด ในช่วงนี้ใบกวนชุดล่างจะเคลื่อนที่ตั้งแต่เริ่มติดไฟเตาแก๊ส
ช่วงหรี่ไฟ เมื่ออุณหภูมิของงาสูงถึง 95-100 องศาเซลเซียส จะต้องหรี่ไฟลงเพื่อไม่ให้เมล็ดงาไหม้ การหรี่ไฟทำโดยการลดปริมาณแก๊สที่จ่ายให้กับเตาลง ช่วงหรี่ไฟจะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ในช่วงนี้ใบกวนชุดล่างจะยังคงเคลื่อนที่อยู่
ช่วงปิดเตา เมื่อหรี่ไฟไประยะหนึ่งแล้วก็จะทำการปิดไฟ โดยปิดเตาแก๊ส ซึ่งช่วงนี้ถือเป็นช่วงปิดเตา แต่ใบกวนจะยังคงทำงานอยู่จนกระทั่งงาสุก ช่วงนี้กินเวลาสั้น ๆ จากนั้นก็จะยกหม้อคั่วงาออกจากเตา เป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการคั่วงา
ข้อควรระวัง ระมัดระวังการรั่วของแก๊สจากข้อต่อ และหัวแก๊ส โดยเฉพาะหากมีการเคลื่อนย้ายเครื่องบ่อยๆ การนำเครื่องคั่วงาไปคั่วเมล็ดพืชอย่างอื่นสามารถทำได้เช่นกัน แต่หากเมล็ดพืชมีจัดมากๆ เช่น คั่วพริกเสร็จ แล้วคั่วงาต่อ หากการทำความสะอาดไม่ดีพออาจทำให้รสชาติงาเปลี่ยนไป ข้อแนะนำหากคั่วเมล็ดพืชที่มีรสจัดๆ ควรทำความสะอาดให้ดี แล้วควรใส่น้ำสะอาดลงในอ่างคั่วและแช่ทิ้งไว้ 1 วัน ทำความสะอาดให้อีกครั้งก่อนคั่วเมล็ดพืชชนิดอื่นต่อ
เอกสารอ้างอิง