เรือนอบพืชผลทางการเกษตร

ความสำคัญของเรือนอบพืชผลทางเกษตร

ปัจจุบันเกษตรกรนิยมลดความชื้นของพืชผลทางการเกษตรด้วยวิธีตากลาน มากกว่าวิธีอื่นๆเนื่องจากประหยัดและเป็นวิธีที่ง่าย แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือฝุ่นละอองที่ปะปนมาในอากาศ หรือเชื้อราที่ปะป่นมาในอากาศ ทำให้ผลผผลิตที่มาตากไม่สะอาดหรือขึ้นราได้ง่าย แต่ต้องเก็บเข้ายุ่งฉางทุกเย็น เพื่อหลีกเลี่ยงน้ำค้างในเวลากลางคืน คณะวิจัยจึงได้สร้างเรือนอบที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์โดยใช้วัสดุที่หาง่ายในท้องตลาด และมีพื้นที่มากพอในการตากพืชผลทางการเกษตร เพื่อให้เกษตรกรสามารถป้องกันฝุ่นผง และเชื้อราที่อาจปนมากับอากาศ อีกทั้งเกษตรไม่ต้องเก็บผลผลิตนั้นทุกๆเย็น สามารถตากผลผลิตนั้นต่อเนื่องได้หลายวันจนกว่าจะแห้ง นอกจากนี้จากการทดลองใช้งานยังพบว่าสามารถลดระยะเวลาการตากผลผลิตนั้นๆลงได้ประมาณ 40%

รู้จักกับเรือนอบพืชผลทางการเกษตร

เรือนอบพืชที่สร้างนี้มีลักษณะหลังคาทรงจั่ว โครงสร้างทั้งหมดทำจากเหล็กทาสีดำ โดยหน้าจั่วอยู่ในทิศเหนือใต้ หลังคาและตัวเรือนคลุมด้วยพลาสติกใสโดยรอบ มีสังกะสีทาสีดำกันอยู่รอบๆสูงประมาณ 70 เซนติเมตร ดังรูปที่ 1 พื้นของเรือนอบทำด้วยคอนกรีต ตัวเรือนอบเมื่อสร้างเสร็จมีขนาด 3 x 6 x 2.5 เมตร หลังคามีพลาสติก 2 ชั้น ชั้นนอกหุ้มไปตามขนาดของหลังคา มีไว้เพื่อกันน้ำและกันฝุ่นไม่ให้เข้าไปในเรือนอบ ส่วนชั้นที่สอง อยู่ต่ำกว่าชั้นแรกประมาณ 12 เซนติเมตร โดยพลาสติกชั้นนี้จะเว้นช่องไว้ตรงกลางของจั่วยาวตลอดความยาวของโรงเรือนดังรูปที่ 2 ชั้นนี้จะมีไว้สำหรับให้ความชื้นไหลออกไปตามช่องพลาสติกชั้นบนและล่าง โดยเอียงไปตามความลาดของหลังคาจนถึงผนังของโรงเรือน ระหว่างผนังด้านบนของโรงเรือนที่อยู่ใกล้กับหลังคาจะเว้นช่องไว้เพื่อให้ความชื้นไหลออกตามช่องเปิดนี้ พลาสติกชั้นที่สองนี้ยังทำหน้าที่กั้นไม่ให้น้ำที่อาจมีการควบแน่นที่พลาสติกชั้นบนหล่นลงสู่ภายในเรือนอบ พลาสติกชั้นที่สองนี้เองที่ทำให้เรือนอบหลังนี้แตกต่างจากเรือนอบที่เคยมีมาก่อน นอกจากนี้คณะวิจัยยังได้นำเอาตาข่ายพลาสติกสีดำคลุมทับพลาสติกใสชั้นนอกโดยรอบทั้งที่เป็นหลังคา และเป็นผนัง เพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กับพลาสติก แม้ว่าตาข่ายนั้นจะทำให้แสงผ่านเข้าเรือนอบได้น้อยลง แต่ก็ทำให้เรือนอบแข็งแรงกว่าเดิมมากสามารถทนแดดทนฝนได้เป็นอย่างดี

ภายในเรือนอบประกอบด้วยชั้นวางผลิตภัณฑ์ ทั้งสองข้าง แต่ละข้างมีสามชั้น แต่ละชั้นห่างกันประมาณ 50 เซนติเมตร ชั้นวางผลิตภัณฑ์แต่ละชั้นออกแบบให้เอียงจากด้านติดทางเดินลาดลงไปหาด้านผนัง โดยมีมุมเอียงประมาณ 10 องศา ประโยชน์เพื่อให้อากาศร้อนที่อยู่เหนือชั้น 2 และ 3 ไหลขึ้นสู่หลังคาได้สะดวกขึ้น และยังช่วยให้หยดน้ำที่เกาะอยู่ในถาดไหลลงสู่พื้นของเรือนอบได้ง่ายขึ้น ดังรูปที่ 3 และ 4

หลักการทำงานของเรือนอบพืชผลทางการเกษตร เรือนอบพืชอาศัยพลังงานแสงอาทิตย์ ให้ความร้อนกับผลิตภัณฑ์ที่อยู่ภายใน โดยผนังส่วนใหญ่และหลังคา คลุมด้วยพลาสติกใสโดยรอบ แสงแดดจะพาความร้อนเข้าไปในเรือนอบ พลาสติกจะเก็บกันแสงบางความยาวคลื่นไม่ให้สะท้อนออกไป ทำให้อากาศภายในเรือนอบร้อน ทำให้น้ำในผลผลิตระเหยไปในอากาศที่ร้อน อากาศร้อนนี้จะลอยตัวขึ้นสู่ด้านบนของหลังคาและจะถูกบังคับให้ไหลไปตามช่องระหว่างพลาสติก 2 ชั้นไปออกที่ชายคา ( ดังรูปที่ 5) ขณะเดียวกันจะมีอากาศเย็นแทรกตัวเข้ามาตามช่องประตู ทำให้เกิดการถ่ายเทของอากาศร้อนและนำเอาความชื้นออกจากผลิตภัณฑ์ได้ตลอดเวลาที่มีแสงแดดกระทบเรือนอบ

Top
Top
Top
การใช้งาน ของเรือนอบพืชผลทางการเกษตร การใช้งานทำได้ง่ายมาก เพียงแต่นำผลิตภัณฑ์ เช่น กล้วย งา พริก หรือผลิตภัณฑ์อย่างอื่น ที่ต้องการตากแห้งเข้าไปในเรือนอบ และปิดประตู ปล่อยให้กระบวนการตากแห้งเกิดขึ้นเอง ทั้งนี้เกษตรกรเพียง หมั่นเข้าไปสังเกตผลิตภัณฑ์ว่าแห้งตามที่ต้องการหรือไม่ การตากแห้งในแต่ละครั้งอาจใช้เวลาแตกต่างกันทั้งนี้ขึ้นกับปริมาณผลิตภัณฑ์ที่ต้องการตากแห้ง และปริมาณแสงอาทิตย์ในช่วงเวลาที่ทำการตากแห้ง คณะวิจัยได้ทดลองตากแห้งผลผลิตของพืช 2 ชนิดได้แก่ กล้วย และงา โดยใช้เวลาตากแห้ง 3 วันดังตัวอย่างที่จะนำเสนอต่อไปนี้

การบำรุงรักษาเรือนอบ ทำได้โดยการหมั่นตรวจสอบพลาสติกไม่ให้มีรอยขาดหรือรอยรั่ว ประมาณเดือนละ 1 ครั้ง

ข้อควรระวัง ไม่ควรอยู่ภายในเรือนอบเป็นเวลานานๆ เนื่องจากอุณหภูมิของอากาศภายในเรือนอบค่อนข้างสูง อาจทำให้หมดสติได้ และขณะอยู่ในเรือนอบควรเปิดประตูไว้ทุกครั้ง

Top
Top

เอกสารอ้างอิง

  1. วาสนา วงษ์ใหญ่ . 2547. งาพืชที่มีศักยภาพในการผลิตและการตลาดและประเด็นปัญหาในการผลิตงาในประเทศไทย . เอกสารเสนอใน การประชุมระดมข้อมูลและประเด็นปัญหาเกี่ยวข้อง ” งา ”. จัดโดยสำนักงานเครือข่ายด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วันที่ 8 ตค .2547, คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี . 5 หน้า .( เอกสารโรเนียว ) .
  2. พิสิษฐ์ เตชะรุ่งไพศาล เอกไชย บุปผเวส และ อริยาภรณ์ พงษ์รัตน์ 2550. รายงานฉบับสมบูรณ์ เรือนอบพืชผลทางการเกษตร . มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี . 5 4 หน้า .
  3. Duffie J.A., and Beckman W.A., 1991. Solar Engineering of Thermal Processes . New York , U.S.A. : Wiley.
รูปที่ 1
รูปที่ 2
รูปที่ 3
รูปที่ 4
รูปที่ 5
ตัวอย่างการตากกล้วยและการตากเมล็ดงาในเรือนอบ